เลือกซื้อแฟรนไชส์ อย่างมืออาชีพ

เลือกซื้อแฟรนไชส์ อย่างมืออาชีพ

ก่อนตัดสินใจ เลือกซื้อแฟรนไชส์ เพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่นั้น นักลงทุนหรือผู้ประกอบการใหม่ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า ธุรกิจที่สามารถขยายแฟรนไชส์ได้นั้น ต้องได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในเชิงของอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนตามความคาดหวัง  และแบรนด์เป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่รู้จักทั่วไป มีฐานลูกค้าเป้าหมายที่จะกลับมาซื้อซ้ำ

นอกจากนี้ ธุรกิจนั้นต้องมีความพร้อมในเรื่องการสนับสนุนการจัดการร้านสาขา การฝึกอบรม มีคู่มือปฏิบัติการ และมีแผนการตลาดอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งผู้ซื้อแฟรนไชส์ คือ “ผู้รับสิทธิ” หรือที่เรียกว่า “แฟรนไชส์ซี” จะชำระค่าตอบแทนแก่เจ้าของแฟรนไชส์ “ผู้ให้สิทธิ” หรือ “แฟรนไชส์ซอร์” เพื่อแลกกับประโยชน์จากการใช้สิทธิของตราสินค้า สิทธิในการขายสินค้าและให้บริการ รวมทั้งความรู้และทักษะในการบริหารธุรกิจร้านแฟรนไชส์นั้น ตลอดอายุของการทำสัญญาแฟรนไชส์

เทคนิคการ เลือกซื้อแฟรนไชส์ ที่ใช่สำหรับคุณ คือการเลือกแฟรนไชส์ที่ตรงกับประสบการณ์ ทักษะ และความปรารถนาของคุณเป็นสำคัญ และตรงเวลาในการเริ่มธุรกิจด้วย

มีหลักพิจารณา 3 ขั้นตอนดังนี้

  1. ถามตนเอง
  2. ถามตลาด
  3. ถามแฟรนไชส์ซอร์

1. ถามตนเอง ก่อน เลือกซื้อแฟรนไชส์ โดยตั้งคำถามกับตนเอง ดังนี้

    • คุณเต็มใจจะปฏิบัติงานตามระบบของธุรกิจแฟรนไชส์นั้นหรือไม่ คุณอาจจะเคยได้ยินว่า การซื้อแฟรนไชส์ง่ายกว่าการเริ่มต้นธุรกิจเอง แม้จะเป็นความจริงแต่ในการเริ่มธุรกิจแฟรนไชส์ คุณจะต้องทุ่มเทเวลาในการเรียนรู้การปฏิบัติงานจากเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ คุณและทีมงานของคุณจะต้องฝึกทำงานทุกอย่างในระยะเวลากำหนด เพื่อเปิดดำเนินธุรกิจได้เหมือนกับร้านต้นแบบ และคุณต้องพร้อมทำตามระบบงาน และข้อจำกัดของแฟรนไชส์ซอร์อย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน “ถ้าคุณไม่ชอบทำตามกฎเกณฑ์ แฟรนไชส์ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมกับคุณ”
    • คุณสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้หรือไม่ นอกจากต้องทำงานกับทีมงานตนเองแล้ว คุณจะต้องทำงานประสานกับทีมงานของแฟรนไชส์ซอร์ตลอดอายุสัญญา เพื่อให้ระบบงานราบรื่นและเป็นมาตรฐาน จะมีการตรวจสอบการปฏิบัติงาน และแผนการตลาดอย่างต่อเนื่อง
    • คุณเคยใช้บริการ หรือมีประสบการณ์กับธุรกิจที่คุณสนใจหรือไม่ ประสบการณ์นั้นตอบสนองความปรารถนาของคุณในระยะยาวหรือไม่ คุณจะต้องอยู่กับธุรกิจตลอดอายุสัญญา เช่น 5-6 ปี
    • คุณมีงบลงทุนที่คิดว่าจะไม่ได้คืนหรือไม่ ทุกธุรกิจมีความเสี่ยง แม้แฟรนไชส์ที่ได้พิสูจน์ความสำเร็จมาแล้วก็ตาม “ความสำเร็จในอดีตไม่ได้การันตีความสำเร็จในอนาคต” การซื้อแฟรนไชส์อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีสำหรับคนที่คิดจะรวยทางลัดหรือรวยเร็ว หรือคนที่คิดว่าสบายกว่าการทำงานประจำ เพราะแฟรนไชส์คือธุรกิจที่ต้องลงมือทำและใช้เวลาในการดำเนินงานเหมือนธุรกิจต้นแบบ
    • คุณยินยอมร้องขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาหรือไม่ แม้การแก้ปัญหาด้วยตนเองเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ในระบบแฟรนไชส์คือการความสัมพันธ์ของทั้งกิจการ การปิดบังปัญหาเล็ก ๆ อาจจะทำให้เกิดรอยรั่วใหญ่ได้ การแชร์ประสบการณ์ความผิดพลาดจะช่วยให้เกิดการพัฒนาการทำงานในองค์รวม

ก่อน เลือกซื้อแฟรนไชส์ ถามตนเอง

ถ้าคุณตอบว่า “ใช่” ทั้ง 5 ข้อข้างบนแล้ว คุณเหมาะสมที่จะลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ ต่อไปนี้ให้เตรียมคำตอบสำหรับคำถามต่อไปนี้

  • คุณลงทุนแฟรนไชส์เพื่ออะไร ได้แก่ เพื่อเป็นรายได้เสริมจากงานประจำ หรือ เพื่อเป็นงานอดิเรกยามว่าง หรือเพื่อลงทุนให้กับคนอื่นทำธุรกิจ หรือเพื่อทดแทนเงินเดือนจากงานประจำ หรือต้องการจะมีมากกว่า 1 สาขา ทุก ๆ คำถามจะช่วยคุณหารูปแบบธุรกิจและผลตอบแทนให้ตรงกับความต้องการ
  • คุณมีทักษะ มีประสบการณ์ หรือเชี่ยวชาญในเรื่องใด บางแฟรนไชส์ต้องการผู้มีประสบการณ์ หรือมีทักษะเฉพาะด้านด้วย เช่นมีประสบการณ์ด้านการทำอาหาร หรือมีทักษะในเรื่องการขาย และบางแฟรนไชส์สนใจในบุคลิกภาพของแฟรนไชส์ซีด้วย
  • คุณสามารถรับความเสี่ยงได้ขนาดไหน ถ้าคุณต้องการความมั่นคง คุณควรพิจารณาธุรกิจที่ดำเนินงานมานาน มีผลงานพิสูจน์ให้เห็นแล้วหลายสาขา หรือกิจการแฟรนไชส์เกิดใหม่ ที่อาจจะให้ผลตอบแทนดีกว่า แต่อาจมีความไม่แน่นอน ซึ่งต้องขอดูแผนธุรกิจระยะยาว
  • คุณมีเงินลงทุนทำธุรกิจเท่าไร ควรแบ่งเงินทุนเพื่อลงทุนเปิดร้านบวกค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ และเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานด้วย กล่าวคือคุณจะต้องมีเงินสดเพียงพอจนกระทั่งธุรกิจสร้างกำไรเงินสด หรือเกินจุดคุ้มทุนแล้ว ข้อนี้จะช่วยคุณกำหนดวงเงินในการเลือกแฟรนไชส์
  • คุณมีเวลาในบริหารธุรกิจในแต่ละวันได้เต็มที่กี่ชั่วโมง บางแฟรนไชส์อาจดูแลมากกว่า 12 ชั่วโมง บางแฟรนไชส์ดูแลเพียง 6 ชั่วโมง ระยะเวลาการทำงานแตกต่างกัน บางแฟรนไชส์เปิดเวลาเช้า ปิดเที่ยง บางแฟรนไชส์เปิดเที่ยง ปิดค่ำ คุณบริหารเวลาอย่างไร
  • คุณคิดว่าจะอยู่ในธุรกิจแฟรนไชส์นี้นานกี่ปี บางแฟรนไชส์ต้องการคำมั่นสัญญาและผูกพันกันนาน ๆ เพื่อจะเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งคุณต้องมีแผนธุรกิจของตนเองว่าตั้งใจจะทำธุรกิจจนถึงเมื่อไหร่และจะออกจากธุรกิจนี้อย่างไร

2. ถามตลาด : จับคู่ความปรารถนาตนเองกับโอกาสการเติบโตของธุรกิจ

หลังจากวิเคราะห์ความต้องการของตนเองแล้ว คุณจะรู้ว่าคุณชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ถนัดเรื่องใด ให้เลือกธุรกิจที่ตรงกับความปรารถนา (Passion) ของตนเองก่อน ถ้าชอบทานอาหาร ให้เลือกธุรกิจอาหาร ถ้าชอบสอน ให้เลือกธุรกิจการศึกษา ถ้าไม่ชอบการทำงานกับคนจำนวนมาก ให้เลือกธุรกิจที่ใช้ระบบจัดการมากกว่าคน เช่นธุรกิจร้านสะดวกซัก ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คุณอาจคิดว่าคุณไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน แฟรนไชส์ซอร์จะสอนทักษะให้คุณได้ แต่ถ้าคุณฝืนในสิ่งที่ไม่ชอบ คุณจะไม่อดทนฝึกทักษะนั้น

เมื่อเลือกประเภทของธุรกิจแล้ว ขั้นต่อไปคือ ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ ว่ามีโอกาสเติบโตในระยะยาวหรือไม่

สิ่งสำคัญในการวิเคราะห์ตลาดคือ คุณต้องมี ทำเล เป้าหมายแล้ว ต่อจากนั้นให้ทำการวิเคราะห์ ดังนี้

ก่อน เลือกแฟรนไชส์ เช็คตลาด

  • ระดับความต้องการของลูกค้า กับธุรกิจที่คุณปรารถนา มีมากน้อยอย่างไรในช่วงเวลาที่ผ่านมา คุณสามารถใช้ตัวช่วยจาก Google Trend เพื่อหาแนวโน้มการค้นหาสินค้าและบริการในธุรกิจนั้น ๆ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นหรือลดลง หรือเรื่อย ๆ นอกจากนี้ เมื่อคุณมีทำเลที่จะทำธุรกิจแล้ว ให้ทำสำรวจกับคนในพื้นที่ว่า ลูกค้าต้องการสินค้าหรือบริการเหล่านี้อย่างไร ดังนั้นการเลือกทำเลที่คุณรู้จักจะช่วยให้คุณวิเคราะห์ความต้องการได้แม่นยำ อย่างไรก็ตาม จงยอมรับว่า ธุรกิจที่คุณปรารถนาอาจจะไม่ตรงกับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่เป้าหมายของคุณก็ได้ ควรมีทางเลือกของธุรกิจเผื่อไว้ในการพิจารณาด้วย
  • ระดับการแข่งขัน เมื่อคุณรู้ว่าจะดำเนินธุรกิจอะไรแล้ว มีคู่แข่งขันในตลาดอยู่กี่แบรนด์ ใครเป็นอันดับหนึ่ง หรือใครมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด คู่แข่งขันรายใหม่เข้าสู่ธุรกิจนี้ง่ายหรือไม่ มีสินค้าทดแทนคืออะไร ธุรกิจนี้อำนาจในการต่อรองกับลูกค้า และซัพพลายเออร์อย่างไร ซึ่งถ้ามีอำนาจการต่อรองน้อย ความสามารถในการทำกำไรก็จะลดลง เพราะเพิ่มราคาไม่ได้ และต่อรองต้นทุนจากซัพพลายเออร์ไม่ได้ การแข่งขันสูงจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา แฟรนไชส์ซีจะได้อัตรากำไรลดลง ถ้าแฟรนไชส์ซีอยู่กับแฟรนไชส์ซอร์ใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองสูง จะมีความสามารถในการทำกำไรดีกว่ารายย่อย แต่ต้องศึกษาโครงสร้างต้นทุนของแฟรนไชส์ซอร์เพิ่มเติม
  • ติดตามแนวโน้มของธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของพฤติกรรมผู้บริโภค และปัจจัยอื่น ๆ เช่นเทคโนโลยี สังคม สิ่งแวดล้อม ภาวะโรคระบาด กฎระเบียบ ฯลฯ มีผลให้ธุรกิจต้องปรับตัวเร็ว แฟรนไชส์ที่ยึดกับแนวทางแบบเดิม จะไม่สามารถอยู่รอดได้

3. ถามแฟรนไชส์ซอร์ : วิเคราะห์ประสบการณ์และแผนธุรกิจ

เมื่อคุณรู้แล้วว่าจะเลือกธุรกิจประเภทไหน งบลงทุนเท่าไร และรู้ว่าลูกค้าในพื้นที่นั้นต้องการอะไร คุณจะสามารถเลือกแบรนด์แฟรนไชส์ได้แล้ว อย่างน้อย 2 กิจการ เพื่อนำมาเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจลงทุน โดยวิเคราะห์ ดังต่อไปนี้

เลือกซื้อแฟรนไชส์ ถามแฟรนไชส์ซอร์

    • ระดับชื่อเสียงของแบรนด์ และประสบการณ์การทำธุรกิจของแฟรนไชส์ซอร์ ซึ่งตามที่เข้าใจกัน การซื้อแฟรนไชส์ จะได้ฐานลูกค้าของแบรนด์นั้น ๆ ด้วย ยิ่งมีชื่อเสียงดี แฟรนไชส์ซีไม่ต้องใช้เวลาและเงินทุนในการทำตลาดมาก ข้อมูลนี้สอบถามกับแฟรนไชส์นั้น ๆ ว่ามีผู้ติดตาม (Follower) ในสื่อออนไลน์เท่าไร มีลูกค้าประจำกี่ราย ลูกค้าใหม่กี่ราย มีข่าวเกี่ยวกับธุรกิจในทิศทางใด และค้นหารีวิวจากสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น
    • มีคำบ่น หรือปัญหาเกี่ยวกับแฟรนไชส์ หรือการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาอย่างไร และได้แก้ปัญหาอย่างไร ควรมีโอกาสได้คุยกับแฟรนไชส์ซีปัจจุบัน
    • แฟรนไชส์ซอร์มีผลประกอบการเป็นอย่างไร เช่นมีอัตราการเติบโตของธุรกิจเท่าไร มีจำนวนสาขาตนเองและสาขาแฟรนไชส์เท่าไร มีสถานะทางการเงินมั่นคงหรือไม่ มีภาวะหนี้สิน หรือภาระผูกพันอะไร เราสามารถขอดูข้อมูลผลประกอบการจากแฟรนไชส์ซอร์ได้ หรือค้นหาจากข้อมูลทางการเงินในทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
    • ระบบการสนับสนุนและดูแลแฟรนไชส์ซีเป็นอย่างไร ซึ่งเหตุผลสำคัญของการซื้อแฟรนไชส์คือ ได้รับการดูแล การฝึกอบรมทั้งก่อนและหลังจากเปิดดำเนินงานแล้ว มีคู่มือปฏิบัติการ การช่วยเหลือให้แฟรนไชส์ซีสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างราบรื่น ดังนั้นคุณควรเปรียบเทียบว่า 2 แบรนด์นั้นมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องนี้อย่างไร
    • วิเคราะห์เงินลงทุน โครงสร้างค่าใช้จ่าย อัตราผลตอบแทน และระยะเวลาคืนทุน โดยขอดูหลักฐานที่พิสูจน์ได้ มาเปรียบเทียบถึงความคุ้มค่า และประวัติการดำเนินงานของแฟรนไชส์ซีอื่น ๆ ที่ผ่านมา
    • วิเคราะห์ความเป็นมืออาชีพของแฟรนไชส์ซอร์ ถามแผนธุรกิจในระยะยาว และ โอกาสในการเติบโตของธุรกิจอย่างไร จะเติบโตอีกกี่สาขา มีการลงทุนในการพัฒนาธุรกิจในด้านใด ฯลฯ
    • ศึกษาสัญญาแฟรนไชส์ และข้อตกลงระหว่างแฟรนไชส์ซอร์ และแฟรนไชส์ซี ว่ามีข้อผูกมัดเรื่องใด เช่น อายุสัญญา ขอบเขตในการดำเนินงาน มีค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง หน้าที่ความรับผิดชอบ การต่อ หรือเพิกถอนสัญญาอย่างไร เป็นต้น เปรียบเทียบระหว่าง 2 แบรนด์ว่า เราพอใจกับข้อตกลงใดที่เรายอมรับได้มากกว่า

การเลือกแฟรนไชส์ที่ดี คือการเลือกให้ตรงกับความต้องการตนเอง สัมพันธ์กับความต้องการของตลาด ที่มีโอกาสในการเติบโตต่อเนื่อง และเลือกแฟรนไชส์ซอร์มืออาชีพที่พร้อมจะช่วยให้แฟรนไชส์ซีทำธุรกิจได้อย่างราบรื่น และสร้างผลตอบแทนตามคาดหวัง ทั้งนี้แฟรนไชส์ซีต้องทุ่มเททั้งเวลา แรงงาน และเงินทุน ทำตามระบบของแฟรนไชส์ซอร์

ระบบแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จเกิดจากแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซีมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจในการทำธุรกิจด้วยกันในระยะยาว

แนะนำ ดูวิดีโอบรรยาย “การเลือกลงทุนแฟรนไชส์ อย่างมืออาชีพ” โดย คุณ เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์, CFE บริษัท จีโนซิส จำกัด ในงาน MOC แฟรนไชส์สร้างอาชีพ 2021 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564

เลือก แฟรนไชส์น่าลงทุน ได้ที่ https://www.gnosisadvisory.com/franchise_for_sale/ 

สอบถามกับทีมงานจีโนซิส ได้ที่ https://lin.ee/6Qp5A4g

Jump Start Franchise by GSB เรียนฟรี 27-28 เมษายน 2567

Jump Start Franchise 2024 โดยธนาคารออมสิน

Jump Start Franchise 2024 by GSB หลักสูตรเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการด้วยระบบแฟรนไชส์ แชร์ประสบการณ์โดยผู้ประกอบการตัวจริง และผู้เชี่ยวชาญตรงสาขา เช่นมืออาชีพสร้างระบบแฟรนไชส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา และผู้เชี่ยวชาญการตลาด รวมทั้งสิทธิพิเศษกับบริการด้านการเงินจากธนาคารออมสิน

อ่านต่อ »
Khiang Osaka เขียง ยกระดับสตรีทฟู้ดไทย สู่ใจกลางโอซาก้า

Khiang Osaka “เขียง” ยกระดับสตรีทฟู้ดไทยสู่ใจกลางโอซาก้า

Khiang Osaka ร้านเขียง อาหารไทยสตรีทฟู้ด เปิดสาขาแฟรนไชส์แรกใจกลางโอซาก้า ญี่ปุ่น เสิร์ฟความอร่อยต้นตำรับไทยในราคาเข้าถึงได้ จีโนซิส มืออาชีพจับคู่ธุรกิจ ร่วมแสดงความยินดีกับแฟรนไชส์ซี และทีมบริหาร Zen Group

อ่านต่อ »
ปลดล็อคโอกาสธุรกิจ สิทธิแฟรนไชส์ต่างประเทศ

ปลดล็อคโอกาสธุรกิจ ด้วยการเป็นผู้ถือสิทธิแฟรนไชส์ต่างประเทศ

ปลดล็อคโอกาสธุรกิจ ด้วยการเป็นผู้ถือสิทธิแฟรนไชส์ต่างประเทศ ที่ปรึกษาแฟรนไชส์ให้คำแนะนำการเลือกแฟรนไชส์น่าลงทุน 17 แบรนด์ดังให้เหมาะกับคุณ ปรึกษาแบบส่วนตัว จองเวลานัดในเวลา 9.00-17.00 น. วันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรม InterContinental ถนนเพลินจิต

อ่านต่อ »
จีโนซิส ที่ปรึกษาธุรกิจ บริหารการเงิน , ที่ปรึกษาแฟรนไซส์, ประเมินมูลค่าทางธุรกิจ, ออกแบบระบบแฟรนไซส์ ครบทุกเรื่องทางธุรกิจ วางใจ gnosis