แฟรนไชส์ 2566 ครึ่งปีแรก

แฟรนไชส์ 2566 ในมุมมองของที่ปรึกษาแฟรนไชส์ และผู้ประกอบการแฟรนไชส์เห็นแนวโน้มเป็นอย่างไร บทความนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอร์) หรือผู้ที่สนใจจะขยายสาขาในปีนี้ นำไปวิเคราะห์โอกาส และประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ แล้วนำไปพัฒนาแผนธุรกิจให้เหมาะสม

เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ แนวโน้มแฟรนไชส์ 2566

คุณ เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ (เซ็ธ), Certified Franchise Executive, กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด

นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มทยอยกลับมาดำเนินงานปกติ ขณะที่แรงงานค่อย ๆ กลับมาทำงานนั้น แต่มีบางส่วนเปิดกิจการเป็นของตนเอง ทำให้แรงงานในธุรกิจขาดแคลน ยกตัวอย่างธุรกิจร้านอาหารก่อนเกิดโควิดมีประมาณ 300,000 ร้านค้า พอถึงปลายปี 2565 มีเพิ่มขึ้นเป็น 600,000 ร้านค้า เติบโตเป็นเท่าตัว ผู้ประกอบการร้านอาหารบางท่านบอกว่า แม้จะเปิดดำเนินงานได้ปกติ ขาดกำลังคน และรายได้ไม่เท่าเดิม อาจเป็นเพราะมีคู่แข่งขันเกิดขึ้นมากแต่จำนวนลูกค้าเท่าเดิม

คุณ เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ คาดว่าในปี 2566 นี้จะมีแฟรนไชส์ซอร์ หรือผู้ประกอบการที่ต้องการขายแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นมาก เพราะหลังจากเปิดดำเนินการเองและผ่านวิกฤติโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว เงินทุนส่วนตัวอาจไม่เพียงพอจะเปิดสาขาตนเอง ถ้าต้องการจะเพิ่มรายได้หรือมีจำนวนสาขาเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งหน้าใหม่ ๆ แล้ว กอปรกับขาดแคลนแรงงานด้วย การขยายสาขาแฟรนไชส์เป็นทางเลือกที่ถูกใช้มากที่สุด จากมูลค่าตลาดแฟรนไชส์รวม 280,000 ล้านบาทอาจจะปรับขึ้นถึง 350,000 ล้านบาทได้ โดยมีความท้าทายและโอกาสกับ แฟรนไชส์ 2566 ดังนี้

>> ความท้าทายกับ แฟรนไชส์ 2566 ครึ่งปีแรก

  1. การเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนค่าขนส่ง ต้นทุนพลังงาน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่นค่าเช่า ค่าจ้างแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะการทำงานดีจะถูกแย่งตัวกันมาก
  2. ต้นทุนทางการเงิน ได้แก่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถูกปรับสูงขึ้นเพื่อชะลอเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งอุปทาน หรือต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
  3. สำหรับธุรกิจรายเล็ก ๆ ที่ไม่มีความซับซ้อนจะมีคู่แข่งขันสูงขึ้นมาก พูดอีกอย่างคือธุรกิจอะไรที่เปิดขายง่าย ขายคล่อง ย่อมมีคู่แข่งขันเข้ามาร่วมแชร์ส่วนแบ่งตลาดเช่นกัน จะเห็นแฟรนไชส์ขนาดเล็กเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแนว Street Food ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง มีปัญหาหนี้สิน และไม่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน
  4. รายได้ลดลงเพราะกำลังซื้อของลูกค้าลดลง สังเกตจากช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา แม้จะมีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นแต่ผู้คนจับจ่ายน้อยลงประหยัดกันมากขึ้น ทำให้ภาครัฐต้องกระตุ้นการจับจ่ายด้วยนโยบายช้อปดีมีคืนในต้นเดือนมกราคม 2566
  5. การเข้ามาของธุรกิจหรือแฟรนไชส์จากต่างประเทศ หลังจากเศรษฐกิจในประเทศของเขามีท่าทีจะชะลอตัว ซึ่งจะกระทบกับแฟรนไชส์ไทยที่มีลักษณะธุรกิจคล้ายกับแฟรนไชส์ต่างประเทศรายใหญ่ ๆ อย่างไรก็ตามตรงนี้ต้องอาศัยว่าใครสามารถรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าได้เก่งกว่ากัน

>> โอกาสกับ แฟรนไชส์ 2566 ครึ่งปีแรก

  1. เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติมโตอย่างต่อเนื่องขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคของเอกชน
  2. ประเทศจีนเปิดประเทศเร็วเกินคาด นักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งที่มาประเทศไทยก่อนสถานการณ์โควิด ถ้ากลับมาย่อมมีผลดีกับร้านค้าและกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของกระแสเงินสดมากขึ้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคนในปี 2566 อ้างอิงจากข่าวนี้
  3. ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีนี้ อาจจะได้เห็นนโยบายของภาครัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการเตรียมการเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่าง ๆ จะช่วยให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนเช่นกัน
  4. ในไตรมาสแรกของปี 2566 จะมีงานแสดงธุรกิจแฟรนไชส์ใหญ่ในหลายประเทศ เช่น อเมริกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นโอกาสที่แฟรนไชส์ไทยจะได้ไปเปิดตลาดต่างประเทศ
  5. มีคนสนใจเลือกซื้อแฟรนไชส์เพิ่มมากขึ้น เพราะต้องการมีกิจการเป็นของตนเอง และต้องการรายได้เสริมในภาวะเศรษฐกิจที่มีการวิเคราะห์ว่าจะชะลอตัว

ชัยรัตน์ ภัทรพิทักษ์ The Pizza Company แนวโน้มแฟรนไชส์ 2566

 

คุณ ชัยรัตน์ ภัทรพิทักษ์ GM-Franchise, The Pizza Company and Coffee Journey, Minor Food Group

ถ้าเราบอกว่าปี 2565 เป็นปีแห่งการท้าทายความสามารถของธุรกิจ Franchise และผู้ประกอบการธุรกิจ Franchise ทั้งจากอุปสรรคของโรคโควิด จากเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งในและนอกประเทศ ทั้งจากอุปสงค์ และอุปทานที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ทั้งจากต้นทุนสินค้าที่ถีบตัวสูงขึ้นแบบน่าตกใจ ทั้งจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่องทางการจัดจำหน่ายทั้ง Dine In, Take Away หรือ Delivery ทั้งจากอำนาจการต่อรองของผู้ให้เช่า ตามห้างต่างๆ รวมถึงค่าคอมมิชชั่นจาก Aggregator ต่างๆ

ทั้งหมดนี้อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการดำเนินการธุรกิจของพวกเราในปี 2565 แต่… ผมมั่นใจว่าพวกเราทุกคนสามารถฝ่าฟันมาได้ (อาจมีบาดแผลบ้าง แต่อยากให้ถือว่าเป็นบาดแผลแห่งการเรียนรู้ เพื่อเป้าหมายใหม่ และใหญ่ของเราในปี 2566)

คำถามใหญ่ ๆ อาจถามมาว่าแล้วปี 2566 พี่คิดว่าแนวโน้มธุรกิจ หรือรวมถึงธุรกิจ Franchise จะเป็นยังไง ถ้าตอบแบบตรง ๆ แบบคนรู้จักกัน …. “หนักครับ เหนื่อยครับ แต่มีทางออกครับ 😊” ……. อะไรคือทางออกหรือครับ !!!!

  1. คุณภาพสินค้า และบริการ … ปัจจัยแรกของธุรกิจที่ยั่งยืน ไม่ได้มาจากโปรโมชั่น ไม่ได้มาจากแผนการตลาดอะไรเลย ไม่ได้มาจากปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้เลย แต่จุดเริ่มต้นมาจากการดูแลรักษามาตรฐานคุณภาพทั้งสินค้า และบริการตามที่แต่ละท่าน แต่ละบริษัทกำหนดนั่นแหละครับ คือสิ่งที่จะทำให้เรา ให้ท่านๆ อยู่รอด จำไว้เลยนะครับ ลูกค้าชำระเงินให้เรา เพราะต้องการสินค้า หรือบริการ ไมใช่เพราะโปรโมชั่น
  2. เมื่อท่านสามารถรักษามาตรฐานคุณภาพได้อย่างดีแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ “การสื่อสาร” เราจะทำอย่างไรให้ทั้งคนที่เคยซื้อสินค้าของเรา รวมถึงคนที่ไม่เคยซื้อเลย หรือซื้อแล้วแต่ไม่อยากซื่อซ้ำ กลับมาซื้อสินค้าของเรา (เน้นอีกครั้งนะครับ อย่างดึงลูกค้ากลับมาด้วยโปรโมชั่น) แต่เราต้องหาวิธีการสื่อสาร แบบสร้างกระแสอยากให้มาใช้บริการ หรือดื่มทานสินค้าของเรา โดยการใช้สื่อให้ถูกช่องทาง ถูกจังหวะ ถูกเวลา ถูกสถานที่ และถูกกับคนที่เราต้องการสื่อสาร
  3. เมื่อเราสื่อสารกับภายนอกได้อย่างดีแล้ว อย่าลืม “สื่อสารกับคนภายในของเราด้วย” เพราะคนที่จะช่วยเราโปรโมทได้อย่างดีที่สุดแบบไม่ต้องจ่ายเงิน และทำด้วยใจจริง ๆ คือ คนในองค์กรของเรานี่แหละ …… แบรนด์ที่แข็งแกร่งมาจากทีมเวิร์คที่ Strong และทีมเวิร์คที่ Strong จะนำสินค้า และบริการที่ไม่ใช่แค่ดี แต่ต้องใช้คำว่า Excellence ไปถึงมือผู้บริโภคด้วยตัว และใจของพนักงานท่านนั้นๆ ด้วยตนเอง
  4. และสำคัญสุดข้อสุดท้าย ทั้งท่านแฟรนไชส์ซอร์ และท่านแฟรนไชส์ซี คือการมี Healthy Portfolio หรือการมี Model ธุรกิจที่มีสุขภาพที่ดี นั่นหมายถึง สามารถบริหาร Cash flow ได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ และทุกเดือน ซึ่งการจะทำได้นั้น ท่านผู้ประกอบการต้องมีข้อมูลทุกรายละเอียดทั้งเชิงต้นทุนสินค้ารายตัว ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนค่าเช่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายของร้านทุกเม็ด การผ่อนชำระเงินกู้กับธนาคาร ดอกเบี้ย ค่าคอมมิชชั่น ประกอบกับการสามารถวิเคราะห์ยอดขายรายช่องทาง ราย SKU รายโปรโมชั่น รายวัน รายชั่วโมง เพื่อวิเคราะห์ได้ว่า อะไรควรทำต่อเพราะสร้างให้ยอดขายมา และอะไรควรหยุดทันทีเพราะดึงกำไรเราออกไป เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดก็นำมาวิเคราะห์ผลประกอบการกำไรขาดทุนรายสัปดาห์ รายสาขาได้อย่างมีกลยุทธ์

ทั้งหมดอาจเป็นเพียงหลักการพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นมากครับ ในการประกอบธุรกิจ Franchise ไม่ว่าท่านจะเป็น แฟรนไชส์ซอร์ หรือ แฟรนไชส์ซี เพราะสิ่งสำคัญสุด ๆ ของการดำเนินธุรกิจคือ “ลูกค้า” เข้าใจลูกค้า เข้าใจพฤติกรรมลูกค้า และนำมาสู่การปฏิบัติการที่เป็นเลิศ นั่นแหละครับ คือ “การเติบโตอย่างยั่งยืน” … โชคดี และลุยเพื่อเป้าหมายของทุกท่านให้สำเร็จในปี 2023 ของท่านอย่างมั่นคงครับ.

เบส ศิรุวัฒน์ ตำมั่ว แนวโน้มแฟรนไชส์ 2566

คุณ ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ (เบส) รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจแบรนด์ไทย บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

แฟรนไชส์ในกลุ่มของ Zen ประกอบด้วยแบรนด์ ตำมั่ว เขียง ลาวญวน และ AKA ร้านอาหารญี่ปุ่นปิ้งย่าง ได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่หลังจากผ่านสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งแต่เดิมจะเลือกทำเลเปิดสาขาร้านเฉพาะในพื้นที่ชุมชนหรือในห้าง เน้นเปิดในเมืองใหญ่หรือในห้าง จึงมีรูปแบบของร้าน และขนาดของการลงทุนให้เลือกน้อย จึงทำให้มีข้อจำกัดในการขยายสาขาแฟรนไชส์

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทีมบริหารของ Zen ได้ทดลองเปิดร้านในหลายขนาดหลายทำเล ลดปัจจัยในการเปิดร้านเช่นจำนวนลูกค้าเป้าหมายในทำเลนั้น ทำให้มีรูปแบบร้านหรือ Format ให้เลือกมากขึ้น เช่นตำมั่วมีแบบ Express ขนาดกะทัดรัด มีเมนูพอดีกับการให้บริการ หรือมีแบบร้าน Stand alone ร้านเดี่ยวนอกห้างสร้างในพื้นที่เปล่า หรือร้านในปั้มน้ำมันที่มีเมนูสำหรับ Take-away ซื้อกลับไปทานบ้านได้ง่าย ขนาดพื้นที่จะเน้นความคล่องตัวของครัวแต่พื้นที่นั่งในร้านน้อยเป็นต้น แฟรนไชส์ซีจึงมีทางเลือกในการร่วมธุรกิจมากยิ่งขึ้น

ในปี 2566 นี้แม้ประเทศไทยจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มเป้าหมายของร้านอาหาร Zen จะเน้นกลุ่มลูกค้าภายในประเทศมากกว่า ส่วนการประมาณการขยายสาขาจะดูตามปัจจัยเศรษฐกิจ เพราะลูกค้าแฟรนไชส์ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มขนาดกลางถึงบน ปัจจัยในการพิจารณาลงทุนจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ เช่นต้นทุนทางการเงินด้วย อย่างไรก็ดีคุณเบสบอกว่าจะมีเป้าในการขยายสาขาในจังหวัดชายแดน และจังหวัดท่องเที่ยว และประเทศเพื่อนบ้านด้วย หลังจากเปิดสาขาตำมั่วสาขาแรกที่ประเทศมาเลเซียปลายปีที่ผ่านมาได้รับความนิยมเกิดคาด

กวิน Otteri กับแนวโน้ม แฟรนไชส์ 2566 ครึ่งปีแรก

คุณ กวิน นิทัศนาจารุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย (Otteri Wash and Dry)

แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ร้านสะดวกซักในปี 2566 จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นธุรกิจที่พิสูจน์ตัวเองผ่านช่วงโควิดมาแล้วว่ายังขยายตัวได้ และ มีผลประกอบการที่ดี อีกทั้งลูกค้าส่วนใหญ่ได้มีการใช้งานและเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้บริการร้านสะดวกซักเป็นประจำมากขึ้น เพราะประหยัดเวลา และ สะดวก บาย ทั้งนี้ทางเจ้าของแฟรนไชส์จะต้องนำเสนอบริการการชำระเงินออนไลน์ และ ระบบ CRM ให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบาย และ โปรโมชั่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

ชยภัทร Potato Corner มุมมองแนวโน้มแฟรนไชส์ 2566

คุณ ชยภัทร ทองเจริญ (ป๋อง) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ร็อคส์ พีซี จำกัด Master Franchisee แบรนด์ โปเตโต้ คอร์เนอร์ (Potato Corner)

ในมุมมองของคุณป๋อง มองว่าปี 2566 นี้เป็นปีที่มีโอกาสเติบโตสูง แต่มีสิ่งที่เรียกว่า potential Black Swan Events ค่อนข้างเยอะ จึงต้องเติบโตแบบระมัดระวัง

การกลับมาของการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะการที่ประเทศจีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่หลาย ๆ คนคาด ย่อมส่งผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในมุมของ Hospitality ซึ่งรวมไปถึงร้านอาหารและแบรนด์แฟรนไชส์ต่าง ๆ ที่มีลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวเยอะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังมากคือ Black Swan Events หรือเหตุที่อาจไม่คาดฝันในมุมของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในไทยได้มาก ในมุมของร้านอาหารนั้น สิ่งที่ต้องระวังคือในเรื่องของ ต้นทุนสินค้า ซึ่งอาจจะสูงขึ้นได้อย่างมากหากเกิดปัญหาในด้าน Supply Chain ทั่วโลกไปมากกว่านี้

ดังนั้นมองปี 2566 ในทางบวกอย่างระมัดระวัง คือพยายามเติบโตให้ได้ในขณะที่ไม่ประมาท เนื่องจากความเสี่ยงที่อาจจะไม่คาดคิดก็อาจจะมีเยอะเช่นกัน

สรุปแนวโน้ม แฟรนไชส์ 2566 ในครึ่งปีแรก

  • ข่าวดีของการเปิดประเทศหลังจากสถานการณ์โรคระบาดจะเบาบางลง คาดหวังว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น แต่ผลกระทบของการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยยับยั้งอัตราเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญของไทยมีความเสี่ยงเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่โชคดีที่รายได้จากการท่องเที่ยวจะมาช่วยเร่งการเติบโตให้กับเศรษฐกิจได้ในครึ่งปีแรก
  • การปรับตัวกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จึงต้องปรับรูปแบบร้านแฟรนไชส์ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของลูกค้าเป้าหมาย และทำเลที่ตั้ง
  • ความท้าทายมีเข้ามาแน่นอนในปีนี้ ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ต้องสามารถสื่อสารกันภายในและภายนอกองค์กร ให้ลูกค้าและแฟรนไชส์ซีรับรู้ว่าเรากำลังทำอะไร มีทางออกอย่างไร
  • แนวโน้มการขยายสาขาแฟรนไชส์มีเพิ่มขึ้นมาก การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันคือสิ่งจำเป็น เช่นมีแบรนด์โดดเด่น บริหารต้นทุนได้เก่ง มีการสานสัมพันธ์กับลูกค้าและแฟรนไชส์ซี จะสามารถแข่งขันกับแฟรนไชส์รายใหม่ ๆ ได้
Jump Start Franchise by GSB เรียนฟรี 27-28 เมษายน 2567

Jump Start Franchise 2024 โดยธนาคารออมสิน

Jump Start Franchise 2024 by GSB หลักสูตรเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการด้วยระบบแฟรนไชส์ แชร์ประสบการณ์โดยผู้ประกอบการตัวจริง และผู้เชี่ยวชาญตรงสาขา เช่นมืออาชีพสร้างระบบแฟรนไชส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา และผู้เชี่ยวชาญการตลาด รวมทั้งสิทธิพิเศษกับบริการด้านการเงินจากธนาคารออมสิน

อ่านต่อ »
Khiang Osaka เขียง ยกระดับสตรีทฟู้ดไทย สู่ใจกลางโอซาก้า

Khiang Osaka “เขียง” ยกระดับสตรีทฟู้ดไทยสู่ใจกลางโอซาก้า

Khiang Osaka ร้านเขียง อาหารไทยสตรีทฟู้ด เปิดสาขาแฟรนไชส์แรกใจกลางโอซาก้า ญี่ปุ่น เสิร์ฟความอร่อยต้นตำรับไทยในราคาเข้าถึงได้ จีโนซิส มืออาชีพจับคู่ธุรกิจ ร่วมแสดงความยินดีกับแฟรนไชส์ซี และทีมบริหาร Zen Group

อ่านต่อ »
ปลดล็อคโอกาสธุรกิจ สิทธิแฟรนไชส์ต่างประเทศ

ปลดล็อคโอกาสธุรกิจ ด้วยการเป็นผู้ถือสิทธิแฟรนไชส์ต่างประเทศ

ปลดล็อคโอกาสธุรกิจ ด้วยการเป็นผู้ถือสิทธิแฟรนไชส์ต่างประเทศ ที่ปรึกษาแฟรนไชส์ให้คำแนะนำการเลือกแฟรนไชส์น่าลงทุน 17 แบรนด์ดังให้เหมาะกับคุณ ปรึกษาแบบส่วนตัว จองเวลานัดในเวลา 9.00-17.00 น. วันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรม InterContinental ถนนเพลินจิต

อ่านต่อ »
จีโนซิส ที่ปรึกษาธุรกิจ บริหารการเงิน , ที่ปรึกษาแฟรนไซส์, ประเมินมูลค่าทางธุรกิจ, ออกแบบระบบแฟรนไซส์ ครบทุกเรื่องทางธุรกิจ วางใจ gnosis