ขยายแฟรนไชส์ จะต้องเริ่มต้นอย่างไร
การขยายแฟรนไชส์ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตขยายสาขาได้เร็วด้วยจากการใช้เงินทุนของคนอื่น ลดการจัดหาและบริหารทีมงานในสาขาแฟรนไชส์ และเมื่อจำนวนสาขาเพิ่มขึ้น ธุรกิจจะมีคนรู้จักมากขึ้น สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน จะเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับซัพพลายเออร์
การมีไอเดียหรือรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจ หรือมีสินค้าบริการเป็นที่ต้องการ อาจไม่เพียงพอในการขยายสาขาแฟรนไชส์ เพราะการสร้างระบบแฟรนไชส์ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตนเอง ใช้ความอดทนและความพยายามในการลองผิดลองถูกเพื่อค้นหาธุรกิจต้นแบบ และเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ จนพบวิธีแก้ไขได้ในทุกวิกฤติ เพื่อมั่นใจก่อนจะขยายแฟรนไชส์ให้คนอื่นรับช่วงไปดำเนินธุรกิจได้ที่เรียกว่า “แฟรนไชส์ซี” และเจ้าของแบรนด์หรือแฟรนไชส์ซอร์ จะคอยติดตาม สนับสนุนช่วยเหลือ ทำการตลาดส่งเสริมการขายได้อย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจที่สามารถขยายแฟรนไชส์ได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบดังนี้
- เป็นธุรกิจสร้างผลกำไรได้จริง
- สามารถทำซ้ำได้ หรือเปิดสาขารูปแบบเดียวกันได้หลายสาขา
- มีระบบการทำงานที่ทำให้คนอื่นสามารถทำตามได้ เช่นมีคู่มือปฏิบัติงาน ระบบการฝึกอบรม ฯลฯ
ดังนั้น ก่อนจะเริ่มต้นสร้างระบบแฟรนไชส์ ผู้ประกอบการต้องตอบคำถามต่อไปนี้
- ธุรกิจทำกำไรแล้วหรือยัง ธุรกิจที่จะขายแฟรนไชส์ได้จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า สร้างผลกำไรโดยเฉลี่ยประมาณกี่บาทต่อเดือน หรืออัตรากำไรเท่ากับกี่เปอร์เซนต์ต่อรายได้ มีอัตราผลตอบแทนบันทึกย้อนหลัง (Track Record) แสดงให้เห็น ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องจัดทำงบกำไรขาดทุนอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ และกำหนดงบลงทุนสำหรับร้านต้นแบบแฟรนไชส์ต้องใช้เท่าไร ผลตอบแทนจะสามารถทำให้คืนทุนได้ในระยะเวลากี่เดือน กี่ปี
- ดำเนินธุรกิจมากี่เดือน กีปี ได้สร้างฐานลูกค้ามากพอที่จะขยายสาขาแล้วรึยัง กรณีนี้เพื่อตอบโจทย์ว่าการขยายสาขาแฟรนไชส์จะไม่กระทบกับฐานลูกค้าเก่าของสาขาปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าขยายสาขาไปแล้วลูกค้ามีไม่มากพอ หรือลูกค้ากระจายไปสาขาอื่น ๆ อัตราการเติบโตของรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่คิด ดังนั้นธุรกิจที่ดำเนินมาระยะนึงจะคาดเดาได้ว่าร้านต้นแบบสามารถรองรับจำนวนลูกค้าโดยเฉลี่ยเท่าไร โอกาสในการขยายสาขาย่อมต้องอาศัยชื่อเสียงมาระยะนึง โอกาสความสำเร็จในร้านสาขาแฟรนไชส์ก็จะมีมากขึ้นด้วย ทั้งนี้แนะนำว่า ระยะเวลาการดำเนินงานธุรกิจต้องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือ 1 ปี
- จำนวนสาขาของตนเอง มีกี่สาขา อยู่ในทำเลที่แตกต่างกันหรือไม่ การทดลองเปิดสาขาในทำเลต่างกันจะช่วยค้นหาทำเลที่ดีที่สุดกับร้านต้นแบบแฟรนไชส์ ดังนั้นขอแนะนำให้เปิดสาขาตนเองอย่างน้อย 3 สาขาในทำเลที่แตกต่างกัน อยู่พื้นที่กลุ่มลูกค้าต่างกัน เพื่อเก็บข้อมูลวิจัยและเก็บทำเลไว้ให้กับแฟรนไชส์ซีในอนาคต
- เราเป็นเจ้าของตราสินค้า หรือแบรนด์ธุรกิจทางกฎหมายแล้วรึยัง กล่าวคือ มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งความเป็นเจ้าของสิทธิจะทำให้เรามีอำนาจต่อรอง และป้องกันการทำซ้ำหรือป้องกันสินค้าลอกเลียนแบบได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากแบรนด์สินค้าเป็นที่นิยม จะมีมูลค่าในตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งในการคำนวนค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ ดังนั้นค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ไม่ใช่ค่ากินเปล่า มีมูลค่าของทุนในการสร้างแบรนด์ที่ผ่านมารวมอยู่ด้วย
- ธุรกิจของเราสามารถถ่ายทอดความรู้การทำธุรกิจให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายหรือไม่ สามารถสอนงานให้คนอื่นทำตามได้อย่างไร มีการบันทึกขั้นตอนการทำงาน จัดทำเป็นคู่มือปฏิบัติงาน เพื่อใช้ตรวจสอบมาตรฐานการทำงาน และมีการฝึกอบรมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มยอดขาย และลดค่าใช้จ่ายดำเนินงาน
- คุณสามารถป้องกันความลับทางการค้าได้อย่างไร แม้ว่าจะสอนงานให้คนอื่นได้แล้ว ธุรกิจก็ต้องมีสูตรลับ หรือความลับทางการค้า ที่เราต้องควบคุมได้ ไม่ให้คนซื้อแฟรนไชส์ไป สามารถจัดทำเองได้ทั้งหมด กรณีนี้ต้องหากลวิธีให้แฟรนไชส์ซียังต้องพึ่งพาเราอย่างไร เช่น การขายวัตถุดิบสูตรพิเศษจากร้าน แต่ต้องไม่ให้ราคาวัตถุดิบสูงกว่าราคาตลาดที่แฟรนไชส์ซีสามารถหาซื้อได้ทั่วไป
- คุณมีทีมบริหารร้านสาขา หรือทีมงานแฟรนไชส์แล้วหรือยัง ความสามารถในการบริหารร้านสาขา รองรับด้วยทีมงาน คอยตอบคำถาม ดูแล ติดตาม ตรวจสอบการทำงาน และสนับสนุนร้านแฟรนไชส์ซี
- มีแผนการตลาดในการสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่องหรือไม่ เจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์จะต้องสามารถ เข้าถึงทุกช่องทางการสื่อสาร ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ส่งเสริมยอดขายทั้งของร้านค้าสาขาของตนเอง และร้านค้าของแฟรนไชส์ซี ซึ่งต้องวางแผนการตลาดอย่างต่อเนื่อง เมื่อขยายแฟรนไชส์ได้ก็สามารถเก็บค่าการตลาดส่วนกลางกับแฟรนไชส์ซีนำมาใช้สร้างแบรนด์ให้เป็นที่นิยมมากขึ้น
- คุณมีงบลงทุนในการสร้างระบบแฟรนไชส์เท่าไร มีแหล่งที่มาของเงินทุนจากที่ใด ซึ่งเมื่อคุณได้ตอบคำถามข้างต้นแล้ว การสร้างระบบแฟรนไชส์คือการสร้างทีมงานแฟรนไชส์ สร้างระบบการบริหารมาตรฐาน สร้างแผนการตลาด มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนในสินทรัพย์ เช่นครัวกลาง โกดัง ระบบการจัดซื้อ ระบบการจัดส่ง ทีมการพัฒนาและวิจัย
อย่างไรก็ตาม กิจการไม่จำเป็นจะต้องมีพร้อมทุกอย่างจึงจะสามารถขยายแฟรนไชส์ได้ แต่ธุรกิจจะต้องมีแผนกลยุทธ์แฟรนไชส์ หรือแผนธุรกิจ ตั้งเป้าหมายในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อวางเส้นเวลา (Timeline) ว่าเมื่อไรจะสร้างทีมงาน สร้างระบบใด ๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ซึ่งงบลงทุนที่ต้องจัดหามามีต้นทุนทางการเงิน ผู้ประกอบการต้องจัดทำงบประมาณทางการเงินเพื่อประเมินว่าการสร้างระบบแฟรนไชส์แล้ว จะต้องขายแฟรนไชส์กี่สาขาจะให้ผลตอบแทนที่พึงพอใจ ดีกว่าการเปิดสาขาตนเองหรือไม่
ข้างต้นเป็นเพียงคำถามเบื้องต้นที่ธุรกิจนึงจะต้องเตรียมทำก่อนที่จะ ขยายแฟรนไชส์ ซึ่งธุรกิจนั้นต้องมีร้านต้นแบบที่พิสูจน์ความสามารถในการสร้างกำไรได้จริง มีผลงานความสำเร็จของร้านสาขาตนเอง และมีฐานลูกค้ามากจากแบรนด์ที่ได้รับความนิยม หลังจากนั้นกิจการจะต้องมามีแผนกลยุทธ์ หรือแผนธุรกิจแฟรนไชส์ สร้างระบบการทำงาน และพัฒนาคู่มือปฏิบัติการให้มีมาตรฐานเพื่อใช้ในการควบคุมแฟรนไชส์ และพัฒนาให้เติบโต และเมื่อจะต้องขายแฟรนไชส์ กิจการจะต้องกำหนดกลยุทธ์การคัดเลือกแฟรนไชส์ซี โดยเฉพาะแฟรนไชส์ซีรายแรกจะต้องคัดเลือกอย่างละเอียด และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นตัวอย่างของร้านแฟรนไชส์ซีในอนาคต
บทความโดย เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์, CFE บริษัท จีโนซิส จำกัด ที่ปรึกษาธุรกิจแฟรนไชส์
ถ้าต้องการรับคำปรึกษา หรือติดตาม หลักสูตรของ จีโนซิส สามารถติดต่อเข้ามาได้เสมอนะครับ หรือหากมีคำถามอื่นเพิ่มเติม ติดต่อได้เสมอครับ โทร. 0969796451 หรือ LINE ID : gnosisadvisory