การแข่งขันทางการค้าในธุรกิจแฟรนไชส์
ตอน ขอบเขตพื้นที่ และสิทธิในการเปิดร้านสาขาของแฟรนไชส์
การแข่งขันในธุรกิจแฟรนไชส์ หนึ่งในปัญหา ได้แก่ ข้อพิพาทระหว่างแฟรนไชส์ซอร์ และแฟรนไชส์ซี ในเรื่อง แฟรนไชส์ซอร์เปิดสาขาใหม่หรืออนุญาตแฟรนไชส์ซีรายใหม่ เปิดใกล้เคียงหรือในพื้นที่ของสาขาเดิม ซึ่งแฟรนไชส์ซีเดิมจะระแวงว่าความสามารถในการสร้างรายได้จะลดลงเมื่อมีร้านสาขาใหม่มาทำธุรกิจในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน และแฟรนไชส์ซีจะเข้าใจอีกว่า แฟรนไชส์ซอร์เอาเปรียบในการทำธุรกิจ เปิดโอกาสให้มีร้านสาขาแฟรนไชส์ใหม่มาเปิดแข่งขัน ดังนั้นการชี้แจงขอบเขตพื้นที่การให้บริการระหว่างแฟรนไชส์ซอร์ และแฟรนไชส์ซีต้องชัดเจนและทำความเข้าใจกันก่อนลงนามในสัญญา
การป้องกันการแข่งขันทางการค้าในพื้นที่ทับซ้อน ควรกำหนด “ขอบเขตพื้นที่การให้บริการ” ของร้านแฟรนไชส์สาขาหนึ่ง ซึ่งอาจจะมี หรือไม่ได้กล่าวถึงในสัญญาแฟรนไชส์ทั่วไปเลย บางแฟรนไชส์ซอร์อาจจะกล่าวว่า ขอบเขตพื้นที่การให้บริการของสาขาหนึ่งอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการบริการทับซ้อนของสาขาให้บริการ และเพื่อรักษาความสามารถในการสร้างรายได้ตามเป้าหมาย และสอดคล้องกับประสิทธิภาพในการดำเนินงานของร้านสาขา เช่นระดับกำลังคนในการให้บริการ พื้นที่ในร้านรองรับการลูกค้า และความรวดเร็วในการให้บริการ เพื่อให้ลูกค้ามีความพึงพอใจสูงสุด เป็นต้น
ในขณะที่แฟรนไชส์ซี จะคิดว่าการกำหนดขอบเขตพื้นที่การให้บริการ ยิ่งมีพื้นที่ให้บริการกว้างมาก ยิ่งมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่ม แต่ลืมไปว่ากำลังการผลิต หรือความสามารถในการให้บริการในร้านของตนเองมีจำกัด ถ้ามีลูกค้ามาใช้จำนวนมาก แต่ไม่สามารถให้บริการได้เต็มประสิทธิภาพ ลูกค้าจะไม่พอใจ และจะไม่กลับมาใช้บริการอีก หรือยิ่งไปกว่านั้น เปิดโอกาสให้คู่แข่งขันแบรนด์อื่น ๆ เข้ามาร่วมทำธุรกิจในพื้นที่ใกล้กัน แย่งฐานลูกค้าเดิมไปอีก
ดังนั้นการกำหนดขอบเขตพื้นที่การให้บริการ แฟรนไชส์ซอร์ต้องพิจารณาปัจจัยการแข่งขัน สภาพแวดล้อม ปริมาณของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และรักษาสมดุลกับความสัมพันธ์กับลูกค้าและแฟรนไชส์ซีตลอดเวลา อย่างไรก็ตามเมื่อแฟรนไชส์ซอร์มีจำนวนแฟรนไชส์ซีมาก ๆ จนไม่สามารถอธิบายหรือบริหารจัดการได้ จนเกิดข้อพิพาทถึงความไม่เป็นธรรมทางการค้าของแฟรนไชส์ซอร์
แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์
อ้างถึง ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ (ฉบับที่ 2) ประกาศเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ได้ปรับข้อความเกี่ยวกับ สิทธิในการเปิดร้านสาขาใหม่ของแฟรนไชส์ซอร์ ต้องแจ้งให้แฟรนไชส์ซีก่อน ดังนี้
“ข้อ 4 การดำเนินการเกี่ยวกับการขยายสาขาโดยแฟรนไชส์ซอร์เป็นผู้บริหารและดำเนินการด้วยตนเอง หรือให้สิทธิแก่แฟรนไชส์ซีรายใดหรือบุคคลอื่นในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่แฟรนไชส์ซีตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ให้แฟรนไชส์ซอร์แจ้งให้แฟรนไชส์ซีรายที่อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงที่สุดได้ทราบ และให้สิทธิในการเปิดสาขาใหม่แก่แฟรนไชส์ซีรายนั้นก่อน เว้นแต่แฟรนไชส์ซีรายเดิมมีผลประกอบการที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนดอย่างชัดเจนและแจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้ว ทั้งนี้แฟรนไชส์ซอร์จะต้องให้ระยะเวลาในการพิจารณาแก่แฟรนไชส์ซีไม่น้อยกว่า 30 วันในการแจ้งกลับ
ในการพิจารณาพื้นที่ที่ใกล้เคียงที่สุดตามวรรคหนึ่งให้พิจารณาจากปริมาณความต้องการสินค้าหรือบริการพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และปัจจัยสภาพการแข่งขันในตลาดประกอบกัน”
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 19 สิงหาคม 2564 จากเวปไซต์ของ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ (ฉบับที่ 3) ประกาศวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ให้ยกเลิกความในข้อ 4 (ข้อความข้างบน) ของประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ ลงวันท่ี 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณา การปฏิบัติทางการค้าท่ีไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 4 การดำเนินการเกี่ยวกับการขยายสาขาโดยแฟรนไชส์ซอร์เป็นผู้บริหารและดำเนินการ ด้วยตนเองหรือให้สิทธิแก่แฟรนไชส์ซีรายใดหรือบุคคลอื่นในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อให้เกิด ความเป็นธรรมและไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่แฟรนไชส์ซีตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติ การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๖๐ ให้แฟรนไชส์ซอร์แจ้งให้แฟรนไชส์ซีรายที่อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงที่สุด ได้ทราบและให้สิทธิในการเปิดสาขาใหม่แก่แฟรนไชส์ซีรายนั้นก่อน เว้นแต่แฟรนไชส์ซีรายเดิม มีผลประกอบการที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนดอย่างชัดเจนและแจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้ว ทั้งนี้ แฟรนไชส์ซอร์ต้องให้ระยะเวลาในการพิจารณาแก่แฟรนไชส์ซีไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน ในการแจ้งกลับ
ในการพิจารณาพื้นที่ที่ใกล้เคียงที่สุดตามวรรคหนึ่งให้พิจารณาจากปริมาณความต้องการสินค้า หรือบริการ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และปัจจัยสภาพการแข่งขันในตลาดประกอบกัน
กรณีการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในลักษณะเป็นแฟรนไชส์เขตพัฒนาพื้นที่ (Area Development) ที่แฟรนไชส์ซอร์ให้สิทธิแก่แฟรนไชส์ซีในการดำเนินธุรกิจภายในพื้นที่ที่ตกลงกันและมีข้อตกลงเกี่ยวกับ การขยายสาขากำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ในสัญญาแฟรนไชส์ หรือมีข้อตกลงเกี่ยวกับการขยายสาขาประกอบ กับสัญญาแฟรนไชส์ที่ทำให้ไม่อาจให้สิทธิในการเปิดสาขาใหม่แก่แฟรนไชส์ซีรายที่อยู่ในพื้นที่ ที่ใกล้เคียงที่สุดก่อนได้ ให้แฟรนไชส์ซอร์พิจารณาให้สิทธิในการขยายสาขาแก่แฟรนไชส์ซีรายอื่นที่เหมาะสมได้ โดยต้องมีเหตุผลที่สามารถรับฟังได้ในทางธุรกิจ ทางการตลาด หรือทางเศรษฐศาสตร์”
การนำไปปฏิบัติในการแข่งขันในธุรกิจแฟรนไชส์
แนวทางการพิจารณาจากการประกาศ การแข่งขันในธุรกิจแฟรนไชส์ ข้างต้นเพื่อความยุติธรรมให้ทั้งแฟรนไชส์ซอร์ และแฟรนไชส์ซี อย่างไรก็ดีจะนำไปปฏิบัติได้อย่างไรนั้น ประเด็นอยู่ในเรื่องของการชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลความจำเป็นให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ แฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซีเห็นชอบก่อนจะดำเนินการใด ๆ เพื่อไม่เกิดผลกระทบในด้านความสัมพันธ์ระยะยาว และสร้างความได้เปรียบกับคู่แข่งขันด้วย
ข้อสังเกตนึงของประกาศนี้น่าจะหมายถึงร้านสาขาที่เป็นร้านค้าถาวร ไม่รวมถึงการให้บริการแบบออนไลน์เช่น การบริการส่งสินค้าทางไปรษณีย์ การส่งอาหาร งานบริการตามบ้าน ซึ่งไม่สามารถกำหนดขอบเขตพื้นที่ได้ชัดเจนถ้าลูกค้ามีความต้องการจะเรียกใช้บริการก็จะเป็นสิทธิของลูกค้าแต่ละรายไป โดยในกรณีของการให้บริการที่ต้องใช้การเดินทาง แฟรนไชส์ซอร์อาจจะกำหนดให้แฟรนไชส์ซีมีจำนวนรถในการจัดส่ง เป็นสัดส่วนกับจำนวนลูกค้า เช่น รถ 1 คันสามารถให้บริการลูกค้า 50 คนต่อวัน เป็นต้น แทนที่จะกำหนดเป็นพื้นที่การให้บริการ
การชี้แจง และสื่อสารอย่างโปร่งใส และการปฏิบัติงานตามข้อตกลงกัน คือการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างแฟรนไชส์ซอร์ และแฟรนไชส์ซี ให้อยู่กันอย่างเข้าใจ และส่งเสริมกัน จะช่วยให้แฟรนไชส์แบรนด์นั้นเข้มแข็งและเติบโตร่วมกัน ลดการเกิดข้อพิพาทกัน คู่แข่งขันอื่น ๆ จะไม่สามารถนำข้อขัดแย้งนี้มาใช้แย่งลูกค้าไปได้ ช่วยกันสร้างความได้เปรียบการแข่งขันในธุรกิจแฟรนไชส์
บทความโดย เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์, CFE บริษัท จีโนซิส จำกัด ที่ปรึกษาแฟรนไชส์