เมื่อวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 คุณเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมอภิปราย การประชุมกลุ่มย่อย เรื่อง ” อนาคตแฟรนไชส์ไทย ในตลาดโลก” การวิเคราะห์ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลกกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ ภายใต้ โครงการการจัดทำยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางการค้า แผนงานจัดทำยุทธศาสตร์ชาติการค้า และยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มภาคีธุรกิจ โดย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
ผู้ร่วมอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ ” อนาคตแฟรนไชส์ไทย ในตลาดโลก” ได้แก่
- ดร. ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
- คุณ เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ บริษัท จีโนซิส จำกัด
- คุณ สวาสดิ์ มิตรอารี นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์
- คุณ ประวิตร จิตรนราพงษ์ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด
- คุณ วิฐรา จิตรนราพงษ์ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด
- คุณ สุทธิชัย พนิตนรากุล บริษัท เดอะวอฟเฟิล ซัพพลาย จำกัด
- คุณพัชรีย์ ชัยริมเวียง พัชรสปา
- อาจารย์ สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
- คุณชาติ จินดาพล สมาร์ท เบรน จินตคณิต
- เจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
ผู้ร่วมอภิปราย และแสดงความคิดเห็น ” อนาคตแฟรนไชส์ไทยในตลาดโลก” ได้แก่ TDRI, Gnosis, Black Canyon, the Waffles, Pachara Spa, Smart Brain และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
คุณ เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ บริษัท จีโนซิส จำกัด นำเสนอข้อจำกัดการพัฒนาแฟรนไชส์ไทยไปสู่ตลาดโลก
ประเด็นหารือ
- โอกาส ปัญหาอุปสรรค และข้อจำกัดของแฟรนไชส์ไทยในการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ
- แนวทางส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศไทย
- ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์สู่สากล
ทั้งนี้ คุณเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ บริษัท จีโนซิส จำกัด ได้สรุปปัญหาและข้อจำกัดของการพัฒนาแฟรนไชส์ไทยในการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานหลักในการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งเสริมและจัดอบรมพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ทุกๆ ปี ซึ่งมีผู้ประกอบการผ่านหลักสูตรบ่มเพาะ หรือ B2B มาแล้ว 17 รุ่น และรุ่นที่ 18 กำลังศึกษาอยู่จนถึงเดือนเมษายน 2559 โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ผ่านการอบรมแล้ว 200 กิจการ แต่ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ได้มีเพียง 30-40 กิจการ มีอัตราความล้มเหลวในการดำเนินงาน 25% ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งสาเหตุหลักคือ การดำเนินธุรกิจยังไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถแข่งขันได้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแฟรนไชส์ของคนทั่วไปยังมีอยู่จำกัด และลงทุนไปโดยขาดการพิจารณาวิเคราะห์ ถึงแม้จะมีโครงการยกระดับแฟรนไชส์ให้เป็นมาตรฐาน หรือ Franchise Standard ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในแฟรนไชส์ยังอยู่ในวงจำกัด ดังนั้นการจะพัฒนาเพื่อไปสู่ตลาดโลกนั้น แฟรนไชส์ไทยจำเป็นต้องได้พัฒนาให้เป็นสากลมากขึ้น และได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
อีกหนึ่งสาเหตุที่แฟรนไชส์ไทย ไม่ได้มีการพัฒนาอย่างเหมาะสม ได้แก่ ขาดเงินลงทุนสนับสนุน เนื่องจากการปรับตัวให้เป็นระบบแฟรนไชส์นั้น จะต้องมีทีมงานดูแลแฟรนไชส์ ทีมฝึกอบรม ทีมการตลาดและการขายแฟรนไชส์ การลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการติดตามตรวจสอบ และทีมวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ซึ่งแฟรนไชส์ไทยขนาดย่อม จะไม่สามารถสร้างทีมงานได้เพียงพอ การดูแลแฟรนไชส์ซีจึงไม่ทั่วถึง เงินทุนหมุนเวียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งความเข้าใจว่าขายแฟรนไชส์โดยไม่มี รอยัลตี้ฟี (Royalty Fee) หรือ ค่าบริหารแฟรนไชส์ที่แฟรนไชส์ซอร์ เรียกเก็บกับแฟรนไชส์ซี เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย ยังเป็นประเด็นที่แฟรนไชส์ขนาดย่อมไม่กล้าคิดกับแฟรนไชส์ซี เพราะกลัวว่าจะขายไม่ได้ ในขณะที่แฟรนไชส์ซีก็ไม่ชอบที่จะมีค่านี้เพื่อผูกมัดกัน ดังนั้นการดูแลเอาใจใส่และการสร้างความสัมพันธ์จึงมีอยู่น้อย หรือไม่มีเลย ทำให้แฟรนไชส์ซีดำเนินธุรกิจด้วยตัวเองและสั่งซื้อสินค้าจากแฟรนไชส์ซอร์เท่านั้น นอกจากนี้การทำตลาดของแฟรนไชส์ซอร์บางรายไม่ได้มุ่งหวังสร้างแบรนด์ให้มีมูลค่าหรือเติบโต เน้นขายแฟรนไชส์มากจนเกินไป แต่ไม่ได้พัฒนาระบบภายในอย่างเหมาะสม
เรื่องเงินลงทุนสนับสนุนจากภาครัฐ ธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ได้รับการสนับสนุนโดยตรง อาจเป็นเพราะการจดทะเบียนความเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ยังไม่ชัดเจน และไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์รองรับ ด้วย ซึ่งประเด็นนี้จะต้องช่วยกันหาทางออกว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะร่างกฎหมายแฟรนไชส์ยังไม่รู้ว่าจะได้รับการลงมติให้มีผลเมื่อไร คุณเศรษฐพงศ์ เสนอว่ามีแหล่งเงินทุนอีกหลายทางที่จะสนับสนุน ซึ่ง กลต. ได้ออกเกณฑ์ในการระดมทุนใหม่ที่เรียกว่า Crowdfund หรือ การระดมทุนจากมวลชน น่าจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับแฟรนไชส์ ในการระดมทุนสร้างระบบแฟรนไชส์ให้แข็งแรงมั่นคงได้
ในเบื้องต้นการอภิปรายร่วมกัน มองเห็นว่า อนาคตแฟรนไชส์ จะไปสู่ตลาดโลกได้นั้น จะต้องมองที่ปัจจัยพื้นฐานภายในก่อน ต้องส่งเสริมให้แฟรนไชส์มีมาตรฐานสากล และส่งเสริมให้นักลงทุน หรือบุคคลทั่วไปเข้าใจระบบแฟรนไชส์มากขึ้น การคัดเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ไปสู่ตลาดประเทศอื่นจะต้องมีหน่วยงานหลายๆ หน่วยมาร่วมกันส่งเสริม ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน และการร่วมมือกับหน่วยงานของต่างประเทศ เช่นสมาคมแฟรนไชส์ในต่างประเทศ
ผู้เข้าร่วมอภิปราย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ข้อจำกัดและแนวทางการพัฒนาแฟรนไชส์ไทย
“การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ จะส่งเสริมให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยเติบโตได้ในตลาดโลก” คุณเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ บริษัท จีโนซิส จำกัด ที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์ การเงินธุรกิจ และแฟรนไชส์