หลังจากที่สถาบันการเงินวิเคราะห์ว่าธุรกิจของคุณ หรือโครงการที่จะขอสินเชื่อสนับสนุนนั้น มีความเป็นไปได้ มีความคุ้มค่าน่าลงทุน และแสดงให้เห็นความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ได้แล้ว ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนที่ 1 “คุ้ม” สถาบันการเงินหรือธนาคารจะพิจารณาการประกันความเสี่ยงการให้สินเชื่อโดยการขอให้นักลงทุนนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันวงเงินสินเชื่อ (Collateral)
ผู้กู้ส่วนมากจะมองว่า ธนาคารคิดจะเอาทรัพย์สินค้ำประกันสินเชื่อนั้นไปใช้ประโยชน์เอง ซึ่งจริงๆ ก็น่าคิดเหมือนนะครับ เพราะเมื่อขอสินเชื่อธนาคารบางแห่ง จะเริ่มคำถามก่อนว่า “มีหลักประกันอะไรมาค้ำ” โดยที่ยังไม่สนใจว่าโครงการการลงทุนนั้นคืออะไรเลย ทั้งนี้อาจมองได้ว่าการพิจารณาสินเชื่อของเจ้าหน้าที่สินเชื่อนั้นยังใช้วิธีโบราณ หรือว่ายอดสินเชื่อเป้าหมายของฝ่ายที่ดูแลนั้นเต็มแล้ว หรือกำลังหาสินทรัพย์ค้ำประกันงามๆ มาประดับพอร์ตตัวเอง และอีกหลายเหตุผล แล้วแต่จะคิดนะครับ ถ้าถามมาแบบนี้โอกาสจะได้สินเชื่อก็จะน้อยลงครับ ยกเว้นว่าคุณมีหลักทรัพย์ค้ำประกันดีๆ มานำเสนอ
หลักทรัพย์ค้ำประกันอะไรบ้างที่ธนาคารสนใจนั้นขึ้นอยู่กับ สภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้นว่าเปลี่ยนมือง่าย หรือขายคล่องกลับไปเป็นเงินสดได้สะดวก ทั้งนี้ธนาคารมองหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นแหล่งคืนเงินกู้แหล่งที่สองรองจากการชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยโดยเงินสดของผู้กู้ อีกนัยนึงคือ เมื่อผู้กู้ยืมเงินไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ธนาคารจะต้องฟ้องยึดทรัพย์ค้ำประกันมาชดเชยหนี้ที่ค้างชำระ ซึ่งต้องใช้เวลาพอควร และธนาคารเองไม่ค่อยปรารถนาซะเท่าไร เพราะธนาคารไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับการยึดทรัพย์มาสร้างผลกำไร
ประเภทหลักประกัน ได้แก่
- เงินสด หรือสิทธิในบัญชีเงินฝากที่สถาบันการเงิน ได้แก่บัญชีเงินออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำ เป็นต้น
- ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน บัตรเงินฝากที่สถาบันการเงินนั้นออกเพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชน
- หนังสืออาวัลตั๋ว หนังสือค้ำประกันฯ
- หลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาดทั้งหลักทรัพย์ประเภททุน และประเภทหนี้ เช่นหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ์ หุ้นกู้ ตราสารหนี้ พันธบัตร ที่มีการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์
- ทองคำ
- หน่วยลงทุนในกองทุนต่างๆ
- อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ เช่นที่ดินว่างเปล่า สวนไร่นา อาคารสำนักงาน เป็นต้น
- อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย เช่นบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ ห้องชุดคอนโดมิเนียม เป็นต้น
- อสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ที่เปลี่ยนมือได้ เช่นสิทธิการเช่า (ซึ่งบางธนาคารไม่รับ สิทธิการเช่าเป็นหลักประกันแล้วนะครับ ต้องสอบถามกับเจ้าหน้าที่อีกครั้ง)
- เครื่องจักร
- ยานพาหนะ เช่นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องบิน เป็นต้น
- สินค้าคงคลัง หรือสินค้าที่กิจการมีไว้ขาย ในกรณีนี้เช่นสินค้าการเกษตรที่สามารถจำนำได้ เป็นต้น
- สินทรัพย์ทางปัญญา ต้องสามารถจดจำนำหรือนำมาเป็นหลักประกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการประเมินมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ และสามารถยึดได้ตามกฎหมาย
(ข้อมูลรายชื่อหลักประกันข้างต้นนำมาบางส่วนจาก แนวนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องแนวนโยบายการประเมินราคาหลักประกันและอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ของสถาบันการเงิน, 9 ธันวาคม 2552)
มูลค่าของหลักทรัพย์ที่ไม่ใช่ “เงินสด หรือ ข้อ 1-3 ข้างต้น” จะถูกประเมินโดยบริษัทประเมินที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแต่ละแห่ง รายชื่อบริษัทประเมินหลักประกันหาได้จากหน้าเวปสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ดีควรตรวจสอบกับธนาคารที่จะไปกู้ว่าใช้บริษัทประเมินที่ไหนที่ธนาคารนั้นยอมรับได้ ธนาคารแบ่งแห่งจะมีหน่วยงานประเมินหลักทรัพย์ภายในในกรณีที่วงเงินสินเชื่อที่ขอไม่เกิน 50 ล้านบาทครับ ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการประเมินราคาหลักประกันนี้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้กู้หรือผู้ขอสินเชื่อ
ในกรณีที่มูลค่าของหลักประกันที่ผู้ขอสินเชื่อ ไม่เพียงพอกับจำนวนวงเงินสินเชื่อที่ขอไป เช่นอยากได้วงเงินสินเชื่อ 10 ล้านบาท ขณะที่นำบ้านมาค้ำประกันในมูลค่า 6 ล้านบาท โอกาสไม่ได้หมดซะทีเดียวครับ เพราะยังมีหน่วยงานช่วยเหลือเช่น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. มาค้ำประกันเพิ่มเติมให้ ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันอีกครับ ปรึกษากับเจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ด้วยครับว่ามีโครงการร่วมกับ บสย. หรือไม่ ซึ่งปกติแล้วธนาคารรัฐจะมีโครงการร่วมกันครับ
เมื่อธุรกิจแสดงความ “คุ้ม” น่าลงทุนแล้ว และมีหลักทรัพย์ที่มา “ค้ำ” ป้องกันความเสี่ยงในการชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินยังไม่สรุปว่าจะให้วงเงินสินเชื่อนะครับ โปรดติดตามตอน “คลัง” เงินทุนของกิจการที่ลงทุน ณ ปัจจุบัน และอนาคตมีผลต่อการพิจารณาวงเงินและความเสี่ยงในการให้สินเชื่อเช่นกัน
หากมีข้อสงสัยหรือข้อแนะนำกรุณาติดต่อได้ที่ contact@gnosisadvisory.com หรือเขียนลงในช่องความเห็นข้างล่างนี้
ถ้าพบว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์ต่อได้เลยครับ
เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด