งบการเงินสำหรับนักลงทุนเหมือนลายแทงสมบัติสำหรับเจ้าของกิจการใช้งบการเงินเป็นเครื่องมือการตรวจสุขภาพกิจการ
โดยทั่วไปมีการใช้งบการเงิน 3 ประเภทได้แก่
- งบดุล หรืองบแสดงฐานะทางการเงิน
งบดุลใช้ประเมินศักยภาพการบริหารสินทรัพย์ของกิจการ มีชื่อใหม่ว่า “งบแสดงฐานะทางการเงิน” ซึ่งจะแสดงให้ดูว่า ณ วันสิ้นสุดของงบนั้นมีสินทรัพย์เท่าไร มีหนี้สินคงเหลือเท่าไร มีส่วนของผู้ถือหุ้นเหลืออยู่เท่าไรซึ่งแสดงถึงความมั่งคั่งของกิจการ ทั้งนี้ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น จะบอกได้ว่ากิจการมีโครงสร้างทางการเงินอย่างไรคือจัดหาสินทรัพย์มาได้ด้วยสัดส่วนของหนี้สินหรือส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่ากัน ถ้านำสินทรัพย์หมุนเวียนลบด้วยหนี้สินหมุนเวียนจะได้เท่ากับ เงินทุนหมุนเวียนของกิจการคือ เงินทุนที่กิจการต้องใช้หมุนเวียนสำหรับการดำเนินงานก่อนที่กิจการจะได้รับเงินสดจากการขายสินค้าหรือจากการชำระหนี้จากลูกหนี้การค้า
- งบกำไรขาดทุน
งบกำไรขาดทุนใช้ประเมินศักยภาพการทำกำไร ได้แก่ความสามารถในการสร้างรายได้ การจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ ประเด็นที่น่าติดตามคือ เมื่อรายได้ลบด้วยต้นทุนขายหรือบริการ จะเท่ากับ “กำไรขั้นต้น”
เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกิจการในอุตสาหกรรมเดียวกัน จะบอกได้เลยว่าธุรกิจใดมีความสามารถในการสร้างกำไรได้มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน ยิ่งมีต้นทุนต่ำ กำไรขั้นต้นยิ่งสูง
ยกตัวอย่าง กิจการประเภทโรงเรียนกวดวิชาตามข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าส่งงบการเงินในปี 2556 จำนวน 122 กิจการ มีค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมด้านอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 55.33% ต่อรายได้ ดังนั้นถ้ากิจการมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 27.47% แสดงว่ามีความสามารถในการทำกำไรน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้สามารถเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานในอดีตเพื่อดูว่ามีการพัฒนาอย่างไร และถ้าอัตรากำไรขั้นต้นลดลง แสดงว่ากิจการมีต้นทุนที่สูงขึ้น หรือกลยุทธ์ของราคาขายที่ลดลง
เมื่อนำรายได้จากการขายหักด้วยต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จะได้กำไรจากการดำเนินงาน เมื่อหักดอกเบี้ยจ่ายและหักภาษีเงินได้ ก็จะเหลือกำไรสุทธิหลังหักภาษี
(รู้กันหรือไม่ว่า ปีพ.ศ.2556 กิจการ SME ถ้ามีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาทได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าเกิน 300,000 บาทแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาทจะเสียภาษีในอัตรา 15% และถ้าเกิน 1 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 3 ล้านบาทจะเสียภาษีในอัตรา 20% และได้ยินว่าตอนนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาลดเหลือ 15% ในปีหน้า)
- งบกระแสเงินสด
งบกระแสเงินสดใช้พิจารณาปริมาณเงินสดของกิจการ และแสดงว่าเงินสดมาจากแหล่งใด และใช้จ่ายไปที่แหล่งใด ซึ่งประกอบด้วยกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน กระแสเงินสดจากการลงทุน และกระแสเงินสดจากการจัดหาทุน การเปลี่ยนแปลงเงินสดทางธุรกิจนี้จะบอกให้คุณทราบว่า มีจำนวนเงินสดในมืออยู่เท่าใดเมื่อต้นงวดและปลายงวดเหลือเท่าไร และช่วยในการบริหารเงินสด เช่นการที่ต้องใช้จ่ายเงินสดอย่างระมัดระวังเมื่อเงินสดของคุณเริ่มตึงตัว
งบการเงินทั้งสามเปรียบเสมือนบทสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อใช้ตัดสินแผนงานในอนาคตว่าจะดำเนินการอย่างไร และเป็นเหมือนลายแทงให้กับนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาร่วมลงทุนหรือซื้อกิจการ หรือแม้กระทั่งสถาบันการเงินจะนำไปใช้วิเคราะห์เพื่อให้สินเชื่อ
ดังนั้นผู้ประกอบการควรมีงบการเงินที่สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริง พอได้แล้วกับการทำงบการเงินเพื่อใช้หลบภาษี แต่ว่าไม่สามารถหาคนร่วมลงทุน และไม่สามารถขอสินเชื่อได้ เพราะงบที่หลบเลี่ยงภาษีมักจะดูไม่สวยงาม ไม่น่าลงทุน
บทความโดยบริษัท จีโนซิส จำกัด วันที่ 14 ตุลาคม 2557