ในภาวะวิกฤตน้ำท่วมตั้งแต่เดือนกันยายน จนถึง พฤศจิกายน 2554 พื้นที่เศรษฐกิจหลายแห่งในภาคกลาง รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยา ทั้งธุรกิจข้ามชาติ ธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาด SME ต่างต้องหยุดการดำเนินธุรกิจ ไม่สามารถผลิตสินค้า ไม่สามารถให้บริการได้ ขาดรายได้ ในขณะที่ยังมีค่าใช้จ่ายคงที่ทีี่ต้องรับภาระอยู่ เช่นค่าจ้าง เงินเดือนพนักงาน สวัสดิการต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายทางการเงิน ได้แก่ ดอกเบี้ยจ่าย และเงินต้นตามภาระสินเชื่อที่มีอยู่
สถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะเจ้าหนี้ หรือผู้ให้บริการธุรกรรมทางการเงินแก่กลุ่มธุรกิจนั้น ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบอุกภัยครั้งนี้ด้วย แม้ว่าธนาคารหลายสาขาจำเป็นต้องปิดการดำเนินงานชั่วคราว เพราะประสบภัยน้ำท่วมเช่นกัน
ทีมงานบริษัท จีโนซิส จำกัด ได้รวบรวมมาตราการต่างๆ ที่ธนาคารได้ออกมาช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ ดังต่อไปนี้
ธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารกรุงเทพออก ‘สินเชื่อบัวหลวงเอสเอ็มอีบรรเทาทุกข์จากอุทกภัย’ วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย โดยให้กู้สูงสุดรายละ 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ในปีแรก หลังจากนั้นคิดอัตรา MLR ผ่อนชำระตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี พร้อมเปิดให้ผู้ประกอบการยื่นกู้ได้ถึง 30 ธันวาคม 2554
- สำหรับลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ธนาคารจะให้ความช่วยเหลือโดยการพิจารณาปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระ ลดอัตราดอกเบี้ย หรือปรับโครงสร้างหนี้เดิม ตลอดจนให้สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง
- นอกจากนี้ ธนาคารยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าบุคคล โดยจะพิจารณาผ่อนปรนการผ่อนชำระ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ หรือให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ด้วยอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษในปีแรกร้อยละ 5 และเป็นอัตรา MRR ในปีถัดไป โดยสามารถผ่อนชำระสินเชื่อที่กู้เพิ่มได้สูงสุด 5 ปี
(อ้างอิงข้อมูลจากข่าวประชาสัมพันธ์ของธนาคารกรุงเทพ วันที่ 10 ตุลาคม 2554 ตามลิงค์นี้ )
ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารกสิกรไทยให้ความช่วยเหลือลูกค้าธนาคารทุกกลุ่ม ดังต่อไปนี้
- ลูกค้ารายย่อยที่มีสินเชื่อบ้าน ธนาคารเสนอให้ปรับลดยอดการผ่อนชำระรายได้ 40% เป็นระยะเวลา 1 ปี หรือจะชำระเฉพาะดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน และธนาคารจะมอบวงเงินสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมบ้านได้สูงสุดเท่ากับยอดสินเชื่อบ้านที่ผ่อนชำระมาแล้ว โดยคิดดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน
- สำหรับผู้ถือบัตรเครดิตกสิกรไทยที่ประสบภัยจากน้ำท่วม และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด จะได้รับการผ่อนผันให้ชำระดอกเบี้ย 50% และปรับลดยอดผ่อนชำระขั้นต่ำให้เป็น 0-10%
- สำหรับผู้ใช้สินเชื่อเงินสดทันใจกสิกรไทยที่ได้รับผลกระทบ จะได้รับการผ่อนผันให้ชำระดอกเบี้ย 50% และปรับลดยอดผ่อนชำระขั้นต่ำเป็น 0-5%
- สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์กสิกรไทย จะได้รับการปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 50% เป็นระยะเวลานานสูงสุด 1 ปี และขยายระยะเวลาการผ่อนสูงสุด 6 เดือน โดยรวมสัญญาเดิมแล้วไม่เกิน 7 ปี
- สำหรับลูกค้าธุรกิจธนาคารจะขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น ให้แก่ลูกค้าที่ใช้วงเงินสินเชื่อกับธนาคาร ฯ เป็นเวลา 6 เดือน และต่อเพิ่มได้อีก 6 เดือนหากสถานการณ์ยังไม่กลับสู่สภาพปกติ ส่วนลูกค้าที่ใช้วงเงินสินเชื่อเพื่อการนำเข้า (T/R) หรือวงเงินตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) สามารถต่อตั๋วออกไปได้อีก 6 เดือน โดยไม่ต้องมีเอกสารการสั่งซื้อรองรับการต่ออายุตั๋วสัญญา นอกจากนี้ธนาคารยังพร้อมจะช่วยเหลือลูกค้าหลังภาวะน้ำท่วมด้วยการให้วงเงินกู้เพื่อฟื้นฟูกิจการ ซ่อมแซมสถานประกอบการ เครื่องจักร หรือเงินช่วยเหลือกรณีสินค้าเสียหาย ระยะเวลาผ่อนชำระ 3 ปี และมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นนาน 6 เดือน
(อ้างอิงข้อมูลจากข่าวประชาสัมพันธ์ของธนาคารกสิกรไทย ตามลิงค์นี้)
ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ออกมาตรการช่วยเหลือ ได้แก่ การเพิ่มวงเงินสินเชื่อเพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เป็น 20,000 ล้านบาท จากเดิม 10,000 ล้านบาท และออกมาตรการ “หยุดผ่อน ลดดอกเบี้ย เพิ่มวงเงิน” สำหรับลูกค้ารายย่อย และลูกค้าธุรกิจ SME/SSME ที่ได้รับความเสียหายมาก ดังนี้
- ลูกค้ารายย่อย มีคุณสมบัติเป็นลูกค้าที่มีประวัติการชำระเงินที่ดี ได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำท่วม หากมีสินเชื่อบ้าน ธนาคารเสนอให้พักชำระหนี้สูงสุด 6 เดือน และลดดอกเบี้ยสูงสุด 50% เป็นเวลา 3 เดือน วงเงินเพิ่มสูงสุด 120% ของราคาประเมินเดิม ดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 3 เดือน
- ลูกค้ารายย่อยที่มีหนี้บัตรเครดิต และ Speedy Cash สามารถพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยสูงสุด 50% เป็นเวลา 3 เดือน
- ลูกค้ารายย่อยที่มีสินเชื่อรถยนต์ สามารถพักชำระหนี้สูงสุดเป็นเวลา 3 เดือน
- ลูกค้า SME/SSME คุณสมบัติเป็นกิจการที่ได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายโดยตรงจากน้ำท่วม ธนาคารจะพิจารณาเรื่องการพักชำระหนี้และดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน (ต่อได้อีก 6 เดือน ถ้าจำเป็น) ลดดอกเบี้ยสูงสุด 50% เป็นเวลา 3 เดือน เพิ่มวงเงิน O/D เป็น 20%
- และลูกค้า SME สามารถกู้เงินเพื่อฟื้นฟู ระยะเวลา3 ปี ดอกเบี้ยปีแรก 5% ปีที่เหลือ MLR -1%
(อ้างอิงข้อมูลจากข่าวประชาสัมพันธ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 ตามลิงค์นี้)
ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารกรุงไทยเพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน ส่วนลูกค้า SME และรายย่อยที่ไม่มีรายได้ ธนาคารคิดดอกเบี้ย 0% พร้อมพักชำระเงินต้นนาน 3 เดือน รวมทั้งได้ปรับ 7 มาตรการช่วยเหลือเดิม โดยขยายเวลาให้ดอกเบี้ยอัตราต่ำพิเศษเป็น 3 ปี และยืดระยะชำระหนี้เป็น 7 ปี
- มาตรการเงินกู้กรุงไทยสู้อุทกภัยลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารและได้รับผลกระทบ ให้ดอกเบี้ยพิเศษในอัตรา MLR -1% ต่อปี นาน 3 ปี และสามารผ่อนชำระ 7 ปี และถ้าลูกค้าเหล่านี้ต้องการเงินทุนหมุนเวียน ธนาคารกรุงไทยได้ลดอัตราดอกเบี้ยในปีแรกเหลืออัตรา MOR-2.5% ต่อปี
- สำหรับลูกค้าสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อบุคคลนั้น ธนาคารพักชำระหนี้วงเงินกู้แบบมีระยะเวลาทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน หลังจากนั้น สามารถทยอยผ่อนชำระดอกเบี้ยที่พักแขวน สูงสุดภายใน 24 เดือน
- ส่วนลูกค้า SME และรายย่อยที่ไม่มีรายได้ สามารถเลือกพักชำระหนี้นาน 3 เดือน โดยธนาคารไม่คิดดอกเบี้ย
- ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจประเภทเงินทุนหมุนเวียนที่มีเอกสารประกอบ ทั้งที่เป็นเม็ดเงินและภาระผูกพัน ธนาคารจะพิจารณาต่อตั๋วออกไปอีก 6 เดือน โดยไม่ต้องมีเอกสารประกอบ
(อ้างอิงข้อมูลจากข่าวสารกรุงไทย วันที่ 19 ตุลาคม 2554 ตามลิงค์นี้)
ธนาคารทหารไทย
ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ออกมาตราการช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบภัย ดังต่อไปนี้
- ลูกค้าบุคคลทีเอ็มบี ที่มีสินเชื่อบ้านทีเอ็มบี สินเชื่อบุคคล TMB Cash 2 Go สินเชื่อบุคคลวงเงินพร้อมใช้ TMB Ready Cash และบัตรเครดิตทีเอ็มบีทุกประเภท ที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถเลื่อนการผ่อนชำระค่างวด ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน
- ลูกค้าของธนาคาร สามารถขอสินเชื่อบุคคลฉุกเฉินได้สูงสุด 1 ล้านบาท
- สำหรับลูกค้าที่มีสินเชื่อ TMB Cash 2 Go ในปัจจุบัน และต้องการขอสินเชื่อเพิ่ม ทีเอ็มบี จะอนุมัติสินเชื่อเท่ากับยอดเงินต้นที่ลูกค้าได้ชำระไปแล้ว บวกวงเงินพิเศษเพิ่มอีก 10 % ของวงเงินสินเชื่อเดิม โดยวงเงินรวมสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ จำนวนเงินขั้นต่ำ 10,000 บาท สูงสุด 1ล้านบาท
- สำหรับลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ธนาคารจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปตามความเหมาะสม โดยมีมาตรการที่จะสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปซ่อมแซมอาคาร โรงงาน และเครื่องจักร ทั้งนี้ สินเชื่อดังกล่าว จะเป็นสินเชื่อระยะยาวตามความเหมาะสมซึ่งส่วนใหญ่มีระยะเวลาประมาณ 5 ปี และมีระยะเวลาปลอดการชำระเงินต้นไม่น้อยกว่า 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความเสียหายและระยะเวลาที่ต้องใช้ในการฟื้นฟู นอกจากนี้ ธนาคารจะขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระคืนเงินทุนหมุนเวียนอีกสูงสุดเป็นเวลา 6 เดือน
- สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอี สามารถผ่อนผันด้านการพักชำระเงินต้น และยืดอายุหนี้ออกไปเป็นระยะเวลา 6-12 เดือน และธนาคารจะพิจารณาให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกค้าที่มีความจำเป็น เพื่อใช้ในการปรับสภาพสถานประกอบการ หรือ ใช้เป็นวงเงินหมุนเวียนในธุรกิจเพิ่มเติม โดยวงเงินกู้ใหม่นี้ จะมีระยะเวลาผ่อนชำระคืนประมาณ 7 ปี และ ระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้นสูงถึง 6 เดือน ทั้งนี้ ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่ขอวงเงินกู้เพิ่มไม่เกิน 20% ของวงเงินเดิมไม่ต้องนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันเพิ่ม
(อ้างอิงข้อมูลจากข่าวประชาสัมพันธ์ธนาคารทหารไทย วันที่ 17 ตุลาคม และ วันที่ 21 ตุลาคม 54)
ทีมงานบริษัท จีโนซิส จำกัด ขอเป็นแรงใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ ให้ผ่านพ้นสถานการณ์ยากลำบากด้วยกำลังใจเต็มร้อย หากมีส่วนงานใดที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูเยียวยาให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ หรือต้องการคำปรึกษาการนำเสนอขอสินเชื่อธนาคาร บริษัท จีโนซิส จำกัดยินดีให้คำปรึกษาและคำแนะนำเป็นพิเศษครับ